อาหารแทบจะทุกชนิดจะมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพื่อให้เราได้รับน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะ จึงควรควบคุมปริมาณน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหาร และเครื่องดื่ม และเลือกกินอาหารที่มีน้ำตาลที่พอเหมาะ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ
ความหวานในอาหารมาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ น้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และ น้ำตาลที่เติมเพิ่ม
ในแต่ละวันอาหารที่เรากินมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงควรหันใส่ใจดูแลปริมาณน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหาร และเครื่องดื่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกฝังให้เด็กๆ
บริโภคน้ำตาลในปริมาณที่พอดี ดูแลเรื่องสมดุลโภชนาการ และหาเวลาทำกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
น้ำตาลที่เราคุ้นเคยเป็นสารอาหารกลุ่ม คาร์โบไฮเดรต ถือเป็นแหล่งพลังงานพื้นฐานของร่างกาย ร่างกายแปลงความหวานเป็นพลังงานหลักในการดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นหากเราเลือก และกำหนดปริมาณน้ำตาลให้พอเหมาะ ความหวานก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

อาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นของโปรดของใครหลายคน โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งแน่นอนความชอบอาหารหวาน และอาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้น มักเริ่ม และถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยติดหวาน ผู้ปกครองควรหันมาใส่ใจดูแล ลดการจัดขนม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงให้กับเด็ก
น้ำตาลที่เราได้รับแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักคือ น้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และ น้ำตาลที่เติมเพิ่ม เช่น น้ำตาลทราย ซึ่งน้ำตาลทั้ง 2 ชนิดให้พลังงานเหมือนกัน แต่น้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จะมีความหวานน้อยกว่า และได้ประโยชน์อื่นๆ ที่มาจากอาหารนั้นด้วย
อันที่จริงน้ำตาลมีประโยชน์ต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่พอเหมาะพอดี การกินหวานให้ได้ประโยชน์นั้น ควรเน้นเลือกแหล่งความหวานจากธรรมชาติ เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม ข้าว ธัญพืช มอลต์ เป็นต้น
ถึงอาหารเหล่านี้จะมีน้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่ แต่เมื่อกินเข้าไปร่างกายจะได้รับสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์อย่าง วิตามิน แร่ธาตุ สารอาหารต่างๆ และใยอาหารเข้าไปด้วย
อาหารที่เรากินส่วนมากนั้น จะมีน้ำตาลผสมอยู่แล้ว โดยน้ำตาล 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 kcal จึงควรลดการเติมความหวาน ลดการปรุงน้ำตาลเพิ่มในอาหาร และเครื่องดื่ม
โดยพยายามกำหนดน้ำตาลที่เติมเพิ่มให้ไม่เกิน 4 ช้อนชา สำหรับเด็ก และไม่เกิน 6 ช้อนชา สำหรับผู้ใหญ่
การกินอาหารที่มีความหวานมากเกินไป เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs
เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการนั้น จะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และอ้วนในที่สุด
ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ อ่อนหวานก็แข็งแรงได้
นอกจากการลดการเติมน้ำตาลในอาหาร และเครื่องดื่มแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตอื่นๆ ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และห่างไกลโรคได้
โดยการดูแลเรื่องโภชนาการ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ในปริมาณที่พอเหมาะ
หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้ชีวิตให้กระฉับกระเฉง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และต้องไม่ลืมที่จะพักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอ หากปฏิบัติได้ตามนี้สุขภาพดีๆ ก็จะตามมา